1/18/2552

ลาวเทิง ตอนที่ 5

ติดตามกันต่อ ตอนนี้เป็นตอนที่ห้าแล้วจากคาเมสุมิฉาจาราจะพาเราไป ... journey to the unknown ต่อ

"จากวังเวียง ผมจะขึ้นไปทางเหนือต่อ โดยมีจุดหมายต่อไปอยู่ที่ โพนสะหวัน

(ดูแผนที่ประกอบ)



ระยะทางเท่าไหร่ จำไม่ได้แล้วครับ (เดินทางหลาย ๆ วัน ชักมึนเรื่องตัวเลข ข้อมูล)
แต่พอทราบคร่าว ๆ ว่า จะใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 6 ชม.
ออกจากวังเวียง 9 โมงเช้า ไปถึง โพนสะหวัน ราว ๆ บ่าย 3
ค่ารถบัส ถ้าซื้อที่ท่ารถ 75,000 กีบ (300 บาท)
ถ้าซื้อผ่านเอเยนต์ ในวังเวียง 85,000 กีบ
ซึ่งซื้อแบบไหน ก็เหมือน ๆ กัน ถ้าซื้อเอง ก็ต้องนั่งสามล้อเครื่องออกมาที่ท่ารถ จ่ายเพิ่มอีก 10,000 กีบ อยู่ดี
ซื้อผ่านเอเยนต์ เขาเอารถออกมาส่ง ก็ครือ ๆ กัน



ท่ารถที่วังเวียง ให้ดูโต๊ะขายตั๋วนะครับ ไม่ใช่ให้ดูอะไรขาว ๆ ด้านซ้าย อิ อิ
อ้อ..ตั๋ว-ticket ภาษาลาว เขาเรียกว่า "ปี้" นะครับ ไม่ได้เรียกตั๋ว
ส่วนคำว่า "ตั๋ว" ในภาษาลาว หมายถึง "โกหก" ครับ

รถบัส ไปโพนสะหวัน ต้นทางมาจากเวียงจันทน์ สภาพรถก็เป็นที่เห็นตามภาพนั่นแหละครับ


ป้ายด้านซ้ายรถ เขียนว่า "เชียงขวาง" ซึ่งก็คือโพนสะหวัน นะแหละ
เดี๋ยวจะมาอธิบายว่า ทำไมบางทีก็เรียก เชียงขวาง บางทีก็เรียก โพนสะหวัน


สภาพภายในตัวรถ เก่าโทรม มาก เห็นยังงี้ ป้าเสลา ยังจะเดินทางกับผมต่อไหมครับ

เส้นทาง ออกจากวังเวียง เป็นภูเขาสูงชัน ตลอด
ว่า จากเวียงจันทน์ มา เต็มไปด้วยทางโค้งขึ้นเขา วกไปเวียนมา
แต่ทางจากวังเวียง ขึ้นเหนือ ไป ต้องเรียกว่าเส้นทาง สูง และ โค้ง x 4 เลยครับ

ก่อนจะขึ้นรถ ผมเห็นผู้โดยสารบางคน ไปขออะไรจากคนขับ
ซึ่งผมมารู้ทีหลังว่า เป็น ถุงก๊อบแก๊บ
รถประจำทาง สายลาวเหนือ ต้องเตรียมถุงก๊อบแก๊บ ไว้ให้ผู้โดยสาร ทุกคัน
ก็คือ เอาไว้ "ให้อ้วก" นะเอง
เพราะรถจะขับโค้งไปโค้งมา ไม่มีหยุด พูดง่าย ๆ ว่า ไม่มีทางตรงเลยครับ
ลองจินตนาการว่า ขับขึ้นที่จอดรถ ในห้างสรรพสินค้า บ้านเรา ก็ได้ครับ
ที่จอดรถห้าง บ้านเรา วนโค้งทางเดียว แต่โค้งเมืองลาว
โค้งไปโค้งมา บางทีก็โค้งกลับมาที่เดิมเฉย บางโค้งก็ยิ่งกว่า "โค้งหักศอก" เพราะเหมือนกลับรถย้อนไปทางเดิมเลย

ผู้โดยสารที่ "เมารถ อาเจียน" เพราะอาการโค้งไม่มีหยุดแบบนี้ จึงถือเป็นเรื่องปกติ
คันที่ผมนั่ง ก็เห็นอ้วกทะลัก ตั้ง 3-4 คน ทั้งหญิงทั้งชาย
แต่แปลกว่า ชาวต่างประเทศ(ฝรั่ง)และผมคนไทย ที่ไม่ได้คุ้นเคยภูมิประเทศ
กลับไม่มีใครเมารถเลย อย่างผมก็แค่มึน ๆ หัว
อาจเป็นเพราะภูมิประเทศรอบด้านสวยงาม ตื่นตาตื่นใจ มองไปทางไหนเห็นแต่ภูเขาสูงลิบ ซ้อนกัน เขียวชะอุ่ม ก็ได้
รถบัสที่วิ่งเนี่ย ไม่ได้วิ่งเลียบไหล่เขานะครับ เรียกว่า วิ่งเลาะไปตามยอดเขาเลย
ยิ่งวิ่งไปไกล ก็ยิ่งมองลงมาเห็น ยอดเขา และ ถนน เบื้องล่าง ที่ผ่านมา อยู่ต่ำลิบ ๆ



ถนนที่สุภาพอ่อนน้อมที่สุดในโลก เพราะ "โค้งแล้วโค้งอีก" โค้งไม่รู้จักหยุด ฮ่า ฮ่า ฮ่า
ถ่ายขณะรถวิ่ง จับภาพออกมาไม่ค่อยดีนัก เพราะคนถ่ายก็ชักมึน ๆ วิงเวียนศีรษะกับความโค้งไม่รู้จักพอ

ตลอดเส้นทางอันคดโค้ง ไต่ขอบเหว บนเขาสูง
จะเห็น "บ้าน" ซึ่งน่าจะเรียกว่า "กระต๊อบ" ซะมากกว่า ปลูกอยู่เรียงราย ตลอดทาง
เป็นบ้านของชาวดอย ที่รัฐบาลลาวไล่ออกจากป่า ให้มาปลูกอยู่ริมถนน ตามที่ผมบอกไปแล้ว
สังเกตดูนะครับ จะเห็นจานดาวเทียม ปักอยู่หน้าบ้าน เต็มไปหมด
"จานดาวเทียม" ถือเป็นเครื่องอุปโภคสำคัญของประชากรลาวครับ
เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ยากที่เครือข่ายสัญญาณโทรทัศน์จะครอบคลุมได้
ต้องอาศัย จานดาวเทียม ดักจับสัญญาณ แทนเสาโทรทัศน์
ซึ่งสัญญาณโทรทัศน์ที่พวกเขา "ดึง" ลงมาดู ก็ไม่ใช่สัญญาณโทรทัศน์ของประเทศตัวเองหรอก
คนลาว ร้อยทั้งร้อย ดูทีวีเมืองไทยเป็นหลักครับ
ไม่ว่าจะอยู่ในป่าในดงอย่างไร น้องกบ-สุวนันท์ ก็เข้าไปเยี่ยมถึง

คนลาว ไม่ว่าจะอยู่กระต๊อบเชิงดอย อยู่บ้านฝาไม้ไผ่ หลังคามุงจาก ยังไง
ก็มีไฟฟ้าใช้ ได้ดูทีวี นะครับ
เพราะ "เขื่อนน้ำงึม" ของลาว ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ใช้ได้ครอบคลุม ทั่วประเทศ
ที่สำคัญ ยังมีเหลือ ส่งมาขายให้เมืองไทย ได้อีกต่างหาก
ไฟฟ้า ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเราใช้ ก็ซื้อมาจากประเทศลาว นี่แหละครับ








แยกพูคูน ถนนทางซ้ายมือ คือแยกไปหลวงพระบาง
ส่วน โพนสะหวัน ที่ผมจะไป เลี้ยวขวาไปอีกทาง
ผมไม่เคยไปสวิส หรือ ยุโรป หรอกฮะ
แต่ดูจากหนัง ที่โชว์ภาพเนินเขาที่มีทุ่งหญ้าเป็นเนินเขียวขจี ลดหลั่นกัน สวยงาม
ก็เลย ตั้งชื่อเรื่อง ตามนั้น คิดว่า สภาพภูมิประเทศ และ ภูมิอากาศ ของ โพนสะหวัน
ดูจะคล้าย ๆ ประมาณนั้น

และกลับมาเมืองไทย ก็ไปจ๊ะเอ๋ กับ "คำนิยาม" ที่ตัวเองตั้งให้กับ โพนสะหวัน
แบบ จุดไต้ตำตอ คิดเหมือนกันได้ไง ในหนังสือ สารคดี เล่มล่าสุด ที่กล่าวถึง โพนสะหวัน
จึงพอ โมเม ไปได้ว่า คงมีคนคิดตรงกันหลายคนแล้วว่า
โพนสะหวัน ก็คือ "สวิตเซอร์แลนด์ของลาว" จริงแท้แน่นอน

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น?
เอาอย่างแรกเลยครับ โพนสะหวันตั้งอยู่ในเขตภูเขาสูง
ผมสอบถามคนที่นั่น เขาบอกว่า พื้นที่บริเวณนี้ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล "ที่สุด" ในประเทศลาว
สูงเท่าไหร่ ก็ไปค้นเอาเองละกันครับ เรื่องข้อมูล ตัวเลข ตอนไปเที่ยววันแรก ๆ ก็จดแหลก พอวันหลัง ๆ เริ่มขี้เกียจ ไม่สนใจบันทีกซะแระ

อากาศที่นี่ เย็นตลอดปีครับ
ขนาดฤดูนี้ เป็นฤดูร้อน แต่อากาศก็เย็นสบายดี (คงมีฝนตกด้วยแหละ)
ในคู่มือการท่องเที่ยว บอกไว้ว่า ถ้า จะไปเที่ยวโพนสะหวัน ถึงจะเป็นหน้าร้อน ก็อย่าลืมเอาเสื้อแขนยาว หรือ เสื้อกันหนาว บาง ๆ ติดตัวไปด้วย เพราะอากาศกลางคืน จะเย็นยะเยือก พอสมควร
ยิ่งถ้าเป็น หน้าหนาว แล้วละก็ ถ้าขืน ไม่เอาเครื่องป้องกันไป ระวังหูจะหลุดออกจากหัวเอา เพราะเขา(ขู่)ว่ามันหนาวทารุณจริงๆ


สิ่งยืนยันว่าที่นี่อยู่บนเขตภูเขาสูง(มาก) คือ เป็นพื้นที่แห่งเดียวในลาวที่มีต้นสนภูเขาขึ้นอยู่เต็มไปหมด
(ผมเรียกชื่อจริง ๆ ไม่ถูกว่า เขาเรียก "สน" อะไร แต่เป็นสนชนิดเดียวกับที่ขึ้นบนภูกระดึง หรือ ยอดดอินทนนท์)

ดูรูปแล้วกันครับ ใครรู้ช่วยบอกที ว่าเขาเรียก ต้นสนอะไร

ต้นสนชนิดที่ว่านี้ ขึ้นอยู่ทั่วไปตามรายทาง ทั่วพื้นที่ โพนสะหวัน
(แปลก อยู่อย่างนะครับ โพนสะหวัน ไม่มีภูเขา ที่เป็นภูเขาหิน หรือภูเขายอดสูง มีแต่พื้นที่เป็นเนิน ๆ สลับทุ่งหญ้าเขียวชะอุ่ม ซึ่งพออนุมานได้ว่า ที่นี่ คือ "ที่ราบบนยอดเขาสูง" แล้ว)
สำหรับชาวลาวแล้ว เขาเรียกเจ้าสนชนิดนี้ว่า "ต้นแปก" ซึ่งน่าจะหมายถึงคำว่า "แปลก" ในภาษาไทย
อาจจะเพราะมันเป็นต้นไม้แปลกประหลาด ไม่ขึ้นในที่อื่น ก็เป็นไปได้






รถบัสมาถึง โพนสะหวัน ตอนบ่าย 3 เศษ ๆ
อากาศขมุกขมัว มีฝนตกพรำ ๆ หยุด ๆ อยู่ตลอดเวลา
ลงท่ารถ จะมีรถตู้ที่จะพาไปส่งเกสต์เฮ้าส์มารอให้เลือกใช้บริการ
อันนี้ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะโดนหลอก หรือ โดนชาร์จค่าบริการ ครับ
ขึ้นไปเลย รถตู้จะพาเราเข้าไปส่งในเมืองโพนสะหวัน ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ โดยไม่คิดค่าโดยสารครับ
คือเขาจะพาไปดูเกสต์เฮ้าส์ ซึ่งมีให้เลือกอยู่ไม่กี่ที่ และทุกที่ก็จะ Co-กับรถตู้รับส่งนักท่องเที่ยว
คือ จะพักที่ไหนก็ได้ แล้วแต่เราชอบ หากดูแล้วไม่พอใจ ก็พาไปที่อื่นต่อ

ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้ ๆ กัน ทั้งนั้น

ติดตามกันต่อในตอนต่อไป

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ