1/16/2552

ลาวเทิง ตอนที่ 1

จากบทความที่แล้วที่กล่าวถึง "มิดะ" ได้พูดถึงลาวเทิง หรือ ขมุ ซึ่งมีประเพณีที่คล้ายกันกับเพลงมิดะ จึงค้นหาข้อมูลต่อพบเว็บไซด์ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะคนที่ไปท่องเที่ยวประเทศลาว ซึ่งยังสวยงามและคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก ดิฉันเคยไปมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้ง 2 ครั้งก็ไปแบบคนไม่รู้ พอได้อ่าน การเขียนบทความของคุณ
คาเมสุมิฉาจารา ในเว็บ http://www.arunsawat.com/board/index.php(ถึงแม้เขียนไว้เกือบ 2 ปีได้แต่ก็มีประโยชน์อย่างมาก)
บทความของคุณคาเมสุมิฉาจารา ถือได้เป็น ... journey to the unknown ตามชื่อ blog นี้อีกทั้งได้ความรู้เป็นอย่างยิ่ง และเขียนได้สนุกเหมือนกับเราได้ท่องเที่ยวไปด้วย จึงขออนุญาติ คัดลอกมาให้อ่าน เพื่อเป็นข้อมูลในการท่องเที่ยวประเทศลาวด้วย

มาว่า ถึงการเดินทาง ทริปนี้ของผม กันดีกว่าจริง ๆ ผมเคยไป ประเทศลาว มาหลายครั้งแล้ว
ทั้งทาง เวียงจันทน์ สะหวันเขต หรือ ปากเซแต่ส่วนใหญ่ ก็ไปแป๊บ ๆ แบบเช้าไปเย็นกลับ (มีค้างบ้าง แต่ไม่กี่คืน)ไปเที่ยวดูนั่นดูนี่ แบบผ่าน ๆ หรือไม่ก็มีธุระ ไปประชุม สัมมนาส่วนลาวด้านเหนือ ไม่เคยไปเยือนเลยเลย คิดอยากไปเที่ยว แบบจริง ๆ จัง ๆ แบกเป้ ขึ้นรถประจำทาง ต่อไปเมืองต่าง ๆ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ จะทะลุออกไปเวียดนามเหนือ ฮานอย เดียนเบียนฟู ซาปา อะไรโน่น

วางโครงการเสร็จสรรพ ถึงวันเดินทาง ก็จับรถไฟสายอีสาน กรุงเทพฯ - หนองคาย เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายน 2550(แผนการ เดินทางของผมคือ ใช้เงินให้น้อยที่สุด เที่ยวให้ได้มากที่สุด จึงเน้นประหยัด ค่าเดินทาง และไม่พึ่งบริการทัวร์นำเที่ยว-ถ้าไม่จำเป็น)ค่ารถไฟ กรุงเทพฯ - อุดรธานี ตู้นอน พัดลม ราคา 512 บาท ที่ผมจะไปลงรถที่อุดรฯ ไม่ไปถึงหนองคาย เพราะศึกษาข้อมูลเดินทางมาก่อนแล้วว่าที่อุดร จะมีรถบัสสายยาว เข้าถึงตัวเมือง เวียงจันทน์ ได้เลยส่วนที่หนองคาย จะต้อง ต่อรถหลายเที่ยว กว่าจะเข้าเวียงได้

แต่ทว่า...ความต้องการของผม ก็ต้องเป็นหมัน
เพราะ นอนหลับมาบนรถไฟ รุ่งเช้า ตะวันแยงตา ตื่นขึ้นมาดู ปรากฏว่า รถไฟคันที่ผมนั่ง เพิ่งจะเข้ามาจอดเทียบท่า สถานีชุมทางบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

ตกใจ ร้อง เฮ้ย อะไรกันวะ 6 โมงเช้า รถไฟเพิ่งจะถึงบัวใหญ่จริง ๆ เวลานี้ รถจะต้องมาถึง จ.ขอนแก่น แล้วเป็นอย่างน้อยสอบถาม พนักงาน ได้ความว่า หัวจักรเสีย จอดซ่อม อยู่แถวลำนารายณ์ กลางดึก ตั้ง 3 ชม.
(ถึงว่า ทำไมนอนหลับสบายจัง เพราะรถไฟจอดอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้วิ่งไปไหนนี่เอง)


ดูหน้าตา คนตื่นขึ้นมา ทำหน้างง ๆ ไม่เข้าใจโลก ว่าทำไม โลกนี้ มันเพิ่งถึงบัวใหญ่หว่า

ทำให้ กว่าจะมาถึงอุดร แทนที่จะเป็น 2 โมงเช้า ก็ปาเข้าไป 5 โมงเช้า เกือบเที่ยงนั่งรถมาที่สถานีขนส่ง รถบัสอุดร - เวียงจันทน์ รอบเช้า ออกไปหมดแล้วจะออกอีกที ก็ 4 โมงเย็น
ซึ่งถ้ารอ ก็จะเย็นเกินไป มีสิทธิ์ต้องนอนค้างที่เวียงจันทน์ คืนนึงถึงจะเดินทางต่อไป วังเวียง จุดหมายแรก (วังเวียงเป็นเมืองระหว่างทางไปหลวงพระบาง ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมาแวะค้างก่อนเดินทางต่อ )
ผมไม่ต้องการเที่ยว หรือ นอนค้างที่เวียงจันทน์ เพราะเคยไปมาหลายที และไม่มีอะไรน่าเที่ยว น่าสนใจ

จึงต้องแก้ปัญหา ด้วยการนั่งรถประจำทาง ต่อไปหนองคาย อีกที
กว่ารถจะมา กว่าจะถึงหนองคาย ก็เกือบบ่ายสองเป็นเรื่องน่าหวั่นใจอยู่เหมือนกัน ว่าจะหารถไปวังเวียงไม่ได้เพราะเท่าที่ทราบ รถประจำทางสายเวียงจันทน์ - หลวงพระบาง เที่ยวสุดท้าย ก็บ่ายสองโมง
ส่วนรถตู้ รถแวน หรือ รถเหมา พอมี แต่ไม่อยากขึ้น เพราะ "แพง" ผิดวัตถุประสงค์หลัก
มารอดู ว่าผมจะหาทางแก้ปัญหาได้ยังไง ในตอนต่อไป กันนะครับ
ผมลงจากรถบัส ที่ปากทางเข้าเมืองหนองคาย หน้าอนุสาวรีย์ปราบฮ่อแล้วต่อสามล้อเครื่อง 30 บาท ไปที่ด่าน ตม. สะพานมิตรภาพไทย-ลาว

กรอกเอกสาร ออกนอกประเทศ ที่ด่านฝั่งไทย



แหะ ๆ ดูหน้าตา ก็รู้ว่า กำลังเครียด...กรูจะหารถต่อไปวังเวียงได้ไหมว้า

ตม.ฝั่งไทย ไม่ยุ่งยากอะไรครับ กรอกเอกสาร แล้วก็ยื่นพร้อมพาสสปอต ไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร
แล้วมายืนรอ รถเมล์ ข้ามฝั่งไปลาว

(อันว่า รถเมล์ คันนี้ ให้บริการ แค่จาก ตีนสะพานฝั่งไทย ไปลงที่ตีนสะพาน ฝั่งลาว เท่านั้นนะครับ ไม่ได้ไปไหนไกล เสียค่าบริการ คนละ 15 บาท คนลงทุนทำกิจการนี้ โคตรคุ้มเลย)

พอไปลงที่ด่าน ตม. ฝั่งลาว ความหงุดหงิด น่ารำคาญ ก็มาเยือนเลยละครับ
เพราะการให้ บริการ ของ จนท. ฝั่งลาว ชักช้าอืดอาด เหมือนขี้เกียจให้บริการ ต่างจากของไทยมากจนได้ยินเสียงฝรั่ง บ่นอยากกิน ฟักแฟงแตงโม อยู่หลายคนผมใช้เวลา กว่าจะผ่านแสตมป์พาสสปอต ที่ด่านลาว อยู่เกือบ สิบนาทีถึงหลุด ออกมาจากด่านได้ก่อนจะออกมา ก็ต้องเสียค่า อะไรสักอย่าง ที่ไม่มีใบเสร็จให้ อีก 20 บาท


พ้นจากประตูด่าน ก็จะเป็นลานด้านหน้าด่าน ตม.ที่เต็มไปด้วย คนขับรถแวน รถตุ๊ก ๆ มารุมหน้ารุมหลัง เรียกให้ใช้บริการสนนราคา 200 บาท ต่อคน สำหรับการเดินทางเข้านครเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ ไปอีกราว 20 กม.
ผมเคยมาเวียงจันทน์ หลายครั้งแล้ว
และพอจะรู้ทริก การเดินทางเข้าเวียง (นคร) โดยไม่พึ่งรถโดยสารราคาขูดรีด พวกนี้ได้

จำไว้เลยนะครับ ท่านที่ไม่เคยไปเมืองลาว ไม่เคยข้ามฝั่งไปเวียงจันทน์ที่สะพานมิตรภาพ
อย่าขึ้นรถพวกนี้เด็ดขาด เพราะแพง (มาก)
รวมถึงอย่าไปหลงคารมโน้มน้าว ประเภทที่ว่า ราคานี้ รวมถึงพาเที่ยวชมรอบเวียงจันทน์ ไปตามที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วยเวียงจันทน์ไม่มีอะไรให้เที่ยวหรอกครับ นอกจาก ประตูชัย ซึ่งต้องผ่านอยู่แล้ว และวัดพระธาตุหลวงซึ่งพอเอาเข้าจริง ๆ คนรถพวกนี้ก็จะ "ปลิ้น" ไม่ทำตามคำพูด หรือ เรียกขอเงินเพิ่ม จากท่านอีก
(ปลิ้นเป็นภาษาลาว แปลว่า พลิก ช่างมาพ้องกับคำไทย ปลิ้นปล้อน ได้พอเหมาะพอดี)

เอาทริกจากประสบการณ์ของผมไปใช้เลยไม่ต้องสนใจ คนขับรถพวกนี้
บอกไปเลยว่า "ไม่ไป จะรอขึ้นรถเมล์" คน ที่ไม่เคยไป จะไม่รู้ว่า นอกจาก ขึ้นรถเหมาเข้าเวียงจันทน์แล้ว ยังมีอีกช่องทางที่ถูกกว่า คือ รถเมล์ลาว ที่วิ่งมารับคนที่ด่าน ตม. เข้าเวียงแต่ รถเมล์ ก็จะมีอยู่หลายสายเหมือนกันนะครับเลือกเอาสายที่เข้าไปใจกลางเมือง ตรง ตลาดเช้า
(ถามคนขับเลยว่า คันนี้ เข้าไปตลาดเช้าไหม)
ค่าโดยสาร จ่ายเป็นเงินไทยได้เลย แค่ 20 บาท
(ความ จริง ถ้าจ่ายเป็นเงินกีบลาว จะถูกกว่านี้ ตกคนละ 12 บาทนี่แหละ แต่เรายังไม่มีเงินลาวให้แลก และเขาก็จะไม่ทอนเงินไทย เพราะเขารับเงินไทยแต่แบงค์ ไม่รับเหรียญ)


ผมขึ้นรถเมล์ปั๊บ ก็สอบถามคนในรถทันทีว่าที่ท่ารถ ตลาดเช้า ซึ่งเป็นท่ารถใหญ่ของเวียงจันทน์ ยังมีรถไปหลวงพระบาง ได้ไหมคนส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ แต่ก็บอกว่า น่าจะหมดแล้ว
มีอยู่คนหนึ่ง ถามผมว่า เป็นคนไทยเหรอ (ผมใช้ภาษาอีสานสื่อสารกับคนบนรถ แต่ภาษาอีสานไทยกับภาษาลาว สำเนียงก็แตกต่างกันอยู่พอสมควร)
เมื่อผมบอกว่าใช่ เธอ (เป็นผู้หญิงที่มากันสองคน) ก็บอกว่า เป็นคนไทยเหมือนกัน แต่มาทำธุรกิจ อยู่ในเมืองลาว นานแล้วเราก็เลยคุยกัน สรุปว่า เดี๋ยวเธอจะไปช่วยถามรถที่ตลาดเช้าให้ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกอื่น ๆ เท่าที่จะช่วยได้เพราะ เห็นใจคนไทยด้วยกัน (เธอพูดกระซิบ ๆ ว่า คนลาวเวียงจันทน์ เชื่อใจไม่ได้ เห็นนักท่องเที่ยวมา ชอบหลอก อย่าว่าแต่คนไทยเลย แม้แต่คนลาวด้วยกัน ยังไม่เชื่อใจเลย)

สรุปแล้ว ผู้หญิงคนนั้น (เธอชื่อ คุณนุช ครับ คนที่คุยกับผม เป็นคนขอนแก่น ที่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างลาว-ไทย ทุกอาทิตย์)ก็เป็นคนออกค่ารถให้ผม เป็นเงินลาว บอกว่า จ่ายเป็นเงินไทย เสียเปรียบ
เดี๋ยวผมไปแลกเงินลาว ที่ตลาดเช้า เสียก่อน แล้วค่อยคืนให้น้ำใจของคนไทยในต่างแดน ทำเอาผมซึ้งเลยครับ
พูดได้เต็มปากเต็มคำเลยครับ
ว่า ถ้าไม่มีคนไทยน้ำใจงาม ชื่อ คุณนุช คนนี้
การเดินทาง หาพาหนะ และ อื่น ๆ ของผม คงยุ่งยากพอสมควร
และ อาจล้มเหลว ต้องค้างในเวียงจันทน์ อย่างแน่นอนเลย
เพราะเมื่อไปถึงตลาดเช้า สอบถามนายท่ารถ
ก็ได้รับคำตอบว่า รถบัสประจำทางไปหลวงพระบาง หมดไปแล้วจริง ๆ
(ความ จริง หมดตั้งแต่เที่ยงวันเลยด้วยซ้ำไป เพราะทางไปหลวงพระบาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชม. และเป็นทางขึ้นเขาคดเคี้ยว เขาจึงไม่ให้รถใช้เวลาเดินทางในตอนกลางคืน)

แต่ก็ยังมีช่องทางอื่น ที่ไปวังเวียงได้
ซึ่งก็ลำบากขลุกขลักหน่อย ต้องต่อรถหลายต่อ เพราะเป็นรถวิ่งระหว่างเมือง ไม่ใช่รถบัสสายยาว
เรียกได้ว่า ไม่ใช่รถสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเลยก็ได้
เป็นรถ พื้นถิ่น ที่คนลาวทั่วไปใช้สัญจรจริง ๆ

คุณนุชถามผมว่า ยังมีเวลาในเวียงจันทน์อยู่อีก
อยากไปเที่ยวไหน จะพาไป
ตอนนั้น ก็เกือบบ่าย 3 แล้ว
ผมเลยบอกว่า แค่อยากไปไหว้พระ มาถึงเมืองลาว ขอไหว้พระเป็นสิริมงคลหน่อยละกัน
เอาวัดใกล้ ๆ แถวนี้ก็ได้ แล้วค่อยมาหาร้านกินข้าว
เพราะก็หิว ตั้งแต่เช้า เพิ่งกินขนมปัง กาแฟ ที่อุดร ไปแค่นั้นเอง

คุณนุช เลยพาผมไปที่วัด สีเมือง

(ถ้าเป็นภาษาไทย คงจะเขียนว่า ศรีเมือง เพราะภาษาลาว ไม่มีอักษรสันสกฤตและตัวควบกล้ำ)


วัดสีเมือง หรือ ศรีเมือง


ดอกไม้ เงินดอกไม้ทองบูชา ถ่ายภาพนี้มาให้ดู เพราะแปลกตาดี ไม่เห็นในเมืองไทยนานแล้ว เมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ เห็นการบูชาพระด้วยดอกไม้เงินดอกไม้ทองอยู่ แต่ปัจจุบัน ไม่เห็นแล้ว


การ ไหว้พระของคนลาว ต่างจากคนไทยมาก ของไทยเรา อย่างมากก็กราบ 3 จบ แล้วอธิษฐานขอพรให้ตัวเองอะไรไป นิดหน่อย แต่คนลาว เขาไหว้พระอย่างจริงจัง ผมเห็นมาแล้วหลายที่ เหมือนกันหมด คือจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 นาที บางคนก็อาจนานถึงครึ่งชั่วโมง เพราะเขาจะท่องบทสวด อรหังสัมมาฯ เสียงดัง นั่นเป็นแค่บทพื้นฐานเบื้องต้น บางคนก็สวดบทอื่น ๆ ต่อไป คนไทยชาวพุทธ เห็นแล้วคงนึกอาย

ไหว้พระเสร็จ เราก็กลับมาที่ตลาดเช้าอีกครั้ง
ฝั่งตรงข้ามตลาด เป็นเวิ้งขายของขนาดใหญ่คล้าย ๆ ตลาดนัดสวนจตุจักร
เรามาที่นี่ เพื่อจะแลกเงินไทย เป็นเงินกีบลาว



จตุจักรลาว มองเผิน ๆ นึกว่าเป็นมาบุญครอง มีร้านขายมือถืออยู่เต็มไปหมด
คนลาวสมัยนี้ ก็ไม่ต่างจากคนไทยหรอกครับ คือ บ้ามือถือ เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก
และ อะแฮ่ม...กระซิบดัง ๆ ณ ที่นี้เลย โทรศัพท์มือถือยี่ห้อต่าง ๆ ในลาว
ส่วนใหญ่ (95 %) เป็นของปลอมเลียนแบบยี่ห้อดัง ที่มีแหล่งผลิตในจีนครับ
ประเทศลาวเป็นประเทศที่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ในเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากมือถือแล้ว แผ่นซีดีเพลงจากเมืองไทย หรือ ประเทศอื่น ๆ ก็แผ่นก๊อปทั้งนั้นครับ วางขายกันอย่างโจ่งแจ้ง
NOKIA ราคาเรือนหมื่นในไทย ที่ลาวขายเพียง ไม่กี่พันบาท เองครับ รับประกันว่า ปลอม แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ 555
นอกจาก เลียนแบบยี่ห้อ เขาแล้ว พี่แกยังประดิษฐ์รุ่นขึ้นมาเองอีกต่างหาก
อย่างเช่น รุ่น N99 ที่โนเกียไม่เคยมี ที่นี่กำลังฮิตมาก ออกแบบสวยเช้งเชียว
ผมว่าจะซื้อสักเครื่อง ก็เกรงจะเอามาเป็นปืนฉีดน้ำเล่นซะเปล่า ๆ

ที่แลกเงินลาว เคาน์เตอร์นี้ เป็นของธนาคารแห่งชาติ

อัตราแลกเปลี่ยน เงินลาว-ไทย ตอนนี้
ถ้าแลกกับสาขาของธนาคารแห่งชาติ
จะได้บาทละ 277 กีบ
ส่วนแลกกับตลาดทั่วไป ได้ 1 บาท ต่อ 270 กีบ ครับ

วิธีคำนวณค่าเงิน กีบ เป็น บาท
ก็ให้คิดง่าย ๆ โดยนับว่า 1,000 กีบ = 4 บาท ก็แล้วกันนะครับ
ไม่ตรงเป๊ะเสียทีเดียว แต่ลงตัว คิดง่ายดี ว่า 250 กีบ = 1 บาท

ค่าครองชีพในลาว แพงกว่าไทยมากเลยนะครับ
คงเพราะไม่ได้นำเงินเข้าระบบธนาคารโลก ค่าเงินเลยเฟ้อ
เงิน 1,000 กีบลาว แทบจะซื้ออะไรไม่ได้เลย
อย่างน้อยต้อง 3,000 กีบขึ้นไป
และส่วนใหญ่ อัตราข้าวของต่ำสุด ก็มักจะเริ่มต้นที่ 10,000 กีบ (ประมาณ 40 บาท) ซะเป็นส่วนใหญ่
ที่ราคาต่ำกว่าหมื่น ก็เห็นมี เฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) ราว ๆ 6,000-8,000 กีบ
น้ำอัดลม 5,000 กีบ
คิดเป็นเงินไทยแล้ว แพงมาก เพราะเงินลาว นับทีละ 1,000 กีบเป็นหลัก คือ ขึ้นราคาอย่างน้อย ทุก ๆ 4 บาทไทย



แลกเงินไทยเป็นเงินลาวเสร็จสรรพ ข้าพเจ้าก็กลายเป็นมหาเศรษฐีไปทันที
ไม่เคยมีเงินล้าน ก็ได้มี คราวนี้ละวะ

อ้อ...เรื่องการใช้เงินที่นี่
เงินไทยเขาก็รับครับ แต่ไม่รับเหรียญ
ทางที่ดีที่สุด คือ ใช้เงินลาวไปเลย ในการจ่ายทุกครั้ง
ไม่ควรใช้เงินไทย หรือเงินดอลล่าร์
อัตราเงินลาว กับ ดอลล่าร์ ตัวเลขหน้าเป็นหลักเดียวกันเลยครับ
เข้าใจง่ายดี
คือ 1 ดอลล่าร์ = 10,000 กีบ

ขอจบแค่นี้ก่อน ไว้ต่อตอน 2 แล้วกัน

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ