1/19/2552

หน้าเหมือนแล้วดัง


sssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssssss
Ilham Anas Jakarta, Indonesia
...
สำนักข่าวต่างประเทศ
รายงานเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ว่า
นายอิลฮัม อะนาส (Ilham Anas)
ช่างภาพชาวอินโดนีเซีย
ซึ่งมีใบหน้าคล้ายกับนายบารัก โอบามา
ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา
ได้กลายเป็นคนดังในพริบตา
หลังภาพของเขาถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ นายอะนาส วัย 34 ปี
เป็นชาวเมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตกถูกเพื่อนจับใส่สูทผูกไท
ในลักษณะเหมือนนายโอบามาตัวจริงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และถ่ายภาพของเขานำ
อะนาสถูกเพื่อนจับใส่สูทผูกไท
ถ่ายภาพกับเพื่อนๆในที่ทำงาน

หลังจากนั้นบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง
นำเขาไปถ่ายแบบโฆษณายา
ออกอากาศในฟิลิปปินส์
โดยให้เขาแสดงเป็นว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ
ทำให้เขากลายเป็นที่สนใจ
ต่อประชาชนในอินโดนีเซีย
และอีกหลายประเทศ







ล่าสุดนี้อะนาสดังไปทั่วโลกแล้ว เมื่อ ยะฮูนิวส์
ตีพิมพ์ภาพของเขาในเว็บไซท์

ข่าวจากไทยรัฐ, yahoo news
ประวัตินาย
Ilham Anas http://ilhamanas.smugmug.com/


ขอแถม Video McCain-Obama Dance มาให้ดูกันอีกรอบ

ลาวเทิง ตอนที่ 8

มาถึงตอนสุดท้าย ของทริปตะลุยลาวเทิงแล้วครับ

หลังจากตะลุยขึ้นเหนือ ต่อไปเวียดนาม ไม่ได้
ผมก็ต้องย้อนกลับมาทางเก่า ออกไปทางหลวงพระบาง
เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทย (แบกเป้สมบุกสมบันไม่ไหวแล้ว ขอทุ่นแรง ชั่วโมงนึงถึงบ้านดีกว่า)


(ดูแผนที่ประกอบ)


ค่ารถโดยสารจากโพนสะหวัน ไป หลวงพระบาง (รถบัสอีแก่แบบเดียวกับตอนไปนะแหละ)
85,000 กีบ หรือ 340 บาทไทย ใช้เวลาเดินทาง ราว ๆ 8 ชม.



ท่ารถโพนสะหวัน ออกมาตั้งนอกเมืองซะไกล ทำให้ต้องเสียค่าสามล้อเครื่องออกมาอีก 10,000 กีบ


เตรียมตัวขึ้นรถ ให้สังเกต ฝรั่ง 3 คน ด้านขวา มันมาทริปเดียวกับผมตั้งแต่วังเวียง
พักด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกันตลอด ตามติดราวกับผมเป็นพี่เลี้ยง เพราะได้ผมช่วยคุยสือสารต่อรองราคากับอ้ายลาว
พอไปถึงหลวงพระบาง เมืองฝรั่งเยอะ มันหายหัวจ้อย เข้ากลุ่มฝรั่ง ไม่สนใจผมไปเลย ไอ้พวกเวลลลลล

เส้นทางจาก โพนสะหวัน ไป หลวงพระบาง
ก็ขึ้นเขาวนไปวนมา คล้าย ๆ เส้นทางเดิม
แต่วิวทิวทัศน์ ทางไปโพนสะหวัน ดูจะสวยกว่า เขียวชะอุ่มกว่า
ทางจากแยกพูคูน ไปหลวงพระบาง ภูเขา ดูแล้ง ๆ แห้ง ๆ ยังไงไม่รู้
และที่สำคัญ อากาศ ร้อนอบอ้าว ไม่เหมือน โพนสะหวัน สวิตเซอร์แลนด์ลาว

ที่พักผมที่ หลวงพระบาง ชื่อ "เรือนพักจันสว่าง"
อยู่ด้านหลัง พระธาตุพูสี
บอกราคาแล้ว หลายคน "ช็อค"
ช็อค-ว่าทำไมหาที่พักที่ "ดี" และ "ราคาถูก" ได้ขนาดนี้
คืนละ 40,000 กีบ (160 บาท) เท่านั้นเองครับ
คือ มีพวกไกด์แนะนำโรงแรม มาพรีเซนต์ตั้งแต่ท่ารถแล้ว
ว่าที่นี่ดี เปิดใหม่ ราคาเพียง 80,000 กีบ เท่านั้น
ผมดูภาพพรีเซ้นต์แล้วก็ว่าดี โอเค แต่พูดทีเล่นทีจริงไปว่า
อยากพักเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ได้ราคา 40,000 กีบ ไม่เอาหรอก
ปรากฏว่า หมอนั่น โอเคเฉย





ถ่ายจากระเบียงที่พัก เห็นยอดพระธาตุพูสีอยู่ตรงหน้า
แต่ทางด้านนี้ เป็นด้านหลังวัด เข้าไม่ได้ ต้องเดินอ้อม ไปเข้าด้านหน้า อีกบล็อกถนนหนึ่ง

ผมมาหลวงพระบาง ไม่ได้กะมาเที่ยวจริงจังนัก
ทั้งที่หลายคน บอกว่า "ชอบ" เมืองมรดกโลกของลาวแห่งนี้
แต่ผมกลับเฉย ๆ กระเดียดไปทาง "ไม่ชอบ" ซะมากกว่า
เพราะดูจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ฝรั่งชุม แบบ ปาย หรือแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ของเราไปซะแล้ว
บริเวณดาวน์ทาวน์ของหลวงพระบาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ (วังเก่าเจ้ามหาชีวิต) ตลาดมืด วัดพระธาตุพูสี
เต็มไปด้วย ร้านอาหาร "ขายฝรั่ง" ที่ฝรั่งมานั่งแช่กินเบียร์ เรียงราย ดูไม่ต่างกับถนนข้าวสารของเราสักเท่าไหร่

และที่สำคัญ บางอย่างของหลวงพระบาง ก็เหมือนอยาก "ได้เงิน" เสียจนน่าเกลียด
เป็นต้นว่า วัดที่อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ เก็บเงินค่าเข้าไปในโบสถ์ 20,000 กีบ
ผมรู้สึกแหม่ง ๆ กับการ เก็บค่าผ่านประตูเข้าไปไหว้พระ เพียงเพราะว่า
วัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ นักท่องเที่ยวเยอะ ก็เลย "สบช่อง-สบโอกาส" เก็บเงินซะเลย อย่างนั้นหรือ
เก็บค่าเข้าชม หากสถานที่นั้น มีสิ่งให้ควรเข้าชม ก็ไม่ว่าหรอก
แต่เก็บเงินหน้าโบสถ์ จะเข้าไปไหว้พระต้องเสียเงินนี่ มันเกินปายยยยย

วัดพระธาตุพูสี ที่ฝั่งตรงข้าม ก็เก็บค่าเข้าเหมือนกัน
โดยเก็บคนลาว 5,000 กีบ คนต่างชาติ 20,000 กีบ
แต่อันนี้ ผมอยาก(ปีน)ขึ้นไปไหว้พระธาตุ ที่ถือว่าเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองลาว
ก็เลยยอมจ่าย......แต่ไม่วายเจ้าเล่ห์
เมื่อคนเฝ้าถามผมว่า เป็นคนลาว หรือ คนไทย
ผมรีบบอก คนลาว แล้วจ่ายห้าพัน เดินหนีไปทันที
ก่อนที่เขาจะสงสัย ให้ผมร้องเพลงชาติลาวให้ฟัง 555



ย่านดาวน์ทาวน์หลวงพระบาง ผมเลือกถ่ายร้านที่มันออกเก่า ๆ หน่อย
ถัดออกไป เป็นพระธาตุพูสี อีกด้านเป็นตลาดมืด (ตลาดขายสินค้าที่ระลึก)
ส่วนฝั่งตรงข้าม เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ประดิษฐานพระบาง และวัดที่เก็บค่าเข้าโบสถ์ (จำชื่อวัดไม่ได้)
ย่านนี้ คนหลวงพระบางจะเรียกว่า "บ้านเจ๊ก" เนื่องจากเมื่อก่อน เป็นชุมชนคนจีน
เป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง แต่ตอนนี้ เมื่อเศรษฐกิจท่องเที่ยวบูม
ร้านรวงคนจีน ก็กลายเป็นร้านบาร์เบียร์ ร้านอาหารฝรั่ง ไปเกือบหมด


เมื่อขึ้นมาถึงตัวพระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดเขาย่อม ๆ ปรากฏว่าหามุมถ่ายภาพพระธาตุสวย ๆ ไม่ได้เลย
เพราะพื้นที่มีขนาดเล็ก แคบ มาก ต้องชันกล้องถ่าย ออกมาได้แค่นี้



เต๊ะท่าถ่ายรูป ให้คุณฝนเล็ก แอนด์ป้าเสลา เอาไปตัดต่อเล่นซะหน่อย
ภาพแรก ด้านหลัง คือ แม่น้ำโขง ครับ (คนลาวเรียก "น้ำของ")
ส่วนภาพหลัง เดินมาถ่ายอีกฝั่งหนึ่ง แม่น้ำที่เห็น เป็นคนละแม่น้ำ ไม่ใช่แม่น้ำโขงแล้วครับ
แต่เป็น "น้ำคาม" (ตอนอ่านชื่อภาษาอังกฤษ kam river ผมก็ไม่กล้าเรียก กลัวจะออกเสียงผิดเป็นน้ำอื่น 555)


โลกนี้กลมยิ่งนัก เมื่อลงจากพระธาตุพูสี มาเดินเตร็ดเตร่แถวตลาดมืด
ได้เจอ อ.สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ คนล่าสุด โดยบังเอิญ
จึงชักภาพร่วมกับคนดัง เก็บเอาไว้โม้หน่อย
ผู้หญิงในภาพ คือ พี่จี๋ อดีตเจ้าของ "ร้านหนังสือเล็กๆ" ที่ถนนพระอาทิตย์
ปัจจุบัน เปิดร้านดอกไม้ และ เลี้ยงแมว 50 ตัว อยู่ที่เชียงใหม่

จริง ๆ แล้ว จุดเด่น ของ หลวงพระบาง
คือเป็นเมืองที่มี วัด เยอะมาก
และแต่ละวัดก็สวย ๆ ตามศิลปะล้านช้าง ทั้งนั้น
สำหรับคนที่ชอบทัวร์วัด ไหว้พระ น่าจะมีความสุข ถ้าได้มาเที่ยวหลวงพระบาง
ยกเว้น วัดกลางเมืองที่เก็บค่าเข้าไปไหว้พระ วัดนั้นแล้ว
ผมยังมีโอกาส ไปตระเวน ไหว้พระ อีก 2 - 3 วัด
ไม่ได้ไปมาก เพราะเวลา ไม่เอื้ออำนวย
ถ่ายภาพ(ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่)มาฝากกันครับ





จุดประสงค์ของการมาหลวงพระบาง ครั้งนี้
นอกจาก จะมาขึ้นเครื่องบินกลับไทยแล้ว
ผมยังอยากแวะมาเยี่ยม "น้องชาย" คนหนึ่ง
ที่มาลงหลักปักฐาน ทำธุรกิจอยู่ที่หลวงพระบาง นี้ด้วย

น้องผมคนนี้ มีชื่อเล่นว่า "แรก" หรือ ชื่อจริง ภัทรพงศ์ คงวิจิตร
อาจเคยได้ยินชื่อ หรือ คุ้น ๆ ผ่านตา กันบ้าง

ภัทรพงศ์ หรือ แรก เป็นนักเขียนสารคดีมือดีของเมืองไทยคนหนึ่งครับ
เขาเดินทางท่องเที่ยว ไปทั่วโลก มีผลงาน ทั้งภาพถ่าย และ หนังสือสารคดีท่องเที่ยว มากมาย
แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะ "หยุด" การเดินทาง และ หัวใจ ไว้ที่หลวงพระบางเสียแล้ว


พ็อกเก็ตบุค "ใจคนและหนทาง" ผลงานของหน่มแรก เล่มนี้เขียนถึงหลวงพระบาง

เพราะหนุ่มแรกเกิดมาหลงเสน่ห์สาวลาว จนแต่งงาน ลงหลักปักฐาน อยู่ที่นี่
มีทายาทลูกครึ่ง ไทย - ลาว เป็นโซ่ทองคล้องใจ 2 คนแล้ว
และทำกิจการเลี้ยงครอบครัว ด้วยการเปิดรีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านนวด-สปา อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ชื่อว่าร้าน "บัวกลางบึง"

นักเดินทางที่กลายเป็นนักธุรกิจ รายนี้
ใจใหญ่ และ จับใหญ่ มากครับ
เขาตัดสินใจทำธุรกิจที่พักนักท่องเที่ยว ที่คนอื่นไม่เคยทำ(หรือไม่กล้าทำ)
นั่นคือ เช่าที่ริมบึง ขนาดใหญ่ เปิดเป็นรีสอร์ตกลางสวน
โดยเน้นลูกค้ากระเป๋าหนัก ที่ไม่ชอบความจำเจ
ที่พักของเขามีราคาค่อนข้างสูง (สำหรับเมืองท่องเที่ยวแบบหลวงพระบาง)
คือ หน้าโลว์ซีซั่น 20 ดอลลาร์/คืน หน้าไฮ 30 ดอลลาร์
ซึ่งราคานี้ มีบริการอาหารเช้า แบบเจ้าของกินยังไง ลูกค้ากินอย่างนั้นด้วย
(ไม่ใช่ กาแฟ ขนมปังไข่ดาว โง่ ๆ ทั่วไป)
ผมก็ งง ๆ แกมไม่เชื่อ ว่า นักท่องเที่ยวจะรับได้กับราคาสูงขนาดนี้เหรอ
และ ห้องพัก ก็ออกจะ เดิ้น ๆ แบบที่ไฮซ้อไฮโซอาจไม่กล้าพัก
แต่เขาก็ยืนยันว่า มีทาร์เก็ตกรุ๊ป ที่สนใจ และจองข้ามปี ไว้ด้วยก็มี

ชมภาพรีสอร์ตริมบึง ของเขาดูละกันครับ

(นี่ไม่ใช่โฆษณาแฝง แต่เป็นการโฆษณาเต็ม ๆ เอิ๊ก ๆ ๆ ๆ)


คนที่นั่งหน้าดำ เหงือซก อยู่ในร้านอาหารน่ะ อย่าไปสนใจเลยครับ
เพิ่งลงมาจากพระธาตุภูสี ก็เลยมีสภาพเป็นหมาหอบแดด อย่างนี้
ให้ดูภาพบึง (ซึ่งเพิ่งขุดลอก รื้อบัวเก่าออก เตรียมรับซีซั่นใหม่ เลยไม่ได้เห็นภาพ "บัวเต็มบึง")
กับภาพบังกะโล ฝั่งตรงข้ามลิบ ๆ








หนุ่มแรก-น้องผมคนนี้ นอกจากจะ ใจใหญ่ และ จับใหญ่ อย่างที่บอกแล้ว
ยังถือได้ว่าเป็นคนไทย "ขาใหญ่" ในหลวงพระบาง อีกด้วย
คือใครไปใครมา ก็ต้องมาหาเขา
เขาให้การต้อนรับ ดูแล ให้ความช่วยเหลือ คนไทยที่ดัง ๆ ที่มีชื่อเสียง ที่ไปเยือนหลวงพระบาง เป็นกิจวัตร
ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ ส.ศิวรักษ์, เสกสรร ประเสริฐกุล, จิรนันท์ พิตรปรีชา, สุรชัย จันทิมาธร และอีกหลาย ๆ คน (อ่า...มาไลน์เดียวกับลุงถึก ณ สวีเดนเลยนะเนี่ย)
เรียกว่า ช่วยเหลือสังคม(ไทย) จนแทบไม่มีเวลาดูแลกิจการตัวเองเลยก็ได้

อย่างผมไปครั้งนี้ ก็ไม่กล้าจะไปพักรีสอร์ตเขา เพราะกลัวเขาจะคิดเงินถูก ๆ หรือไม่คิดเลย
แต่ก็ยังได้รับอานิสงส์ ความเป็น "ขาใหญ่" แห่งหลวงพระบางของเขา
ด้วยการ ได้ไปหาซื้อ ไวน์ถูก ๆ ดี ๆ ในตลาดมืด ในราคาพิเศษแล้วพิเศษอีก
แถมตอนจะกลับ เครื่องบินเต็ม เขาก็ยังสามารถ พูดกับ "นายสนามบิน" หลวงพระบาง
ขอที่ให้ผมได้เป็นกรณีพิเศษอีก ใหญ่ไม่ใหญ่ คิดดูเอาเอง
(เอา แค่ ที่-ที่เขาเช่าอยู่นี้ ก็เป็นของ รมต.ลาว - คหบดี - ผู้ดีเก่าหลวงพระบาง ติด ๆ กันหลายแปลง ที่เขาสามารถ "รวบ" เช่าเอามาทำรีสอร์ตในสวน อย่างที่คนลาวแท้ ๆ ยังยากจะทำได้)


ภัทรพงศ์ หรือ "แรก" หนุ่มไทยหัวใจหลวงพระบาง
กับลูกชายคนโต น้องมิ่งเมือง ที่ซนมากกกกก

และ อ้อ...แม้ไม่ใช่คนใหญ่ คนดัง ก็แวะไปเยี่ยมเยือนเขาได้ครับ
อย่างชาวอรุณสวัสดิ์ ที่จะไปเที่ยวหลวงพระบาง อยากไปพักในบรรยากาศ "กลางสวน"
เขาบอกว่า คิดค่าที่พักในอัตรา 500 บาท เท่านั้น
(ใครจะไป ติดต่อผ่านมาทางผม ก็ได้ จะเป็น "นายหน้า" เอ๊ย เป็นผู้ประสานงานให้)
แต่ถ้าไปช่วงไฮซีซั่น อาจจะเต็ม พักไม่ได้นะครับ เพราะเขาสร้างห้องไว้น้อยมาก
เน้นบรรยากาศ ไม่ให้มีลูกค้าพลุกพล่านจนเกินไป


อ่า...จบทริปการเที่ยวลาว ไว้แค่นี้ดีกว่า

คัดลอกมาจากเว็บ http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=4481.0
แบกเป้ขึ้นเขา ตะลุยลาวเทิง
ขอบคุณ K. คาเมสุมิฉาจารา ที่ได้เขียนบทความได้สะใจมากได้ความรู้และเต็มอิ่มการท่องเที่ยวแบบ ... journey to the unknown จริงๆ

ลาวเทิง ตอนที่ 7

มาต่อกันเลย ..
คิดว่า ร้อยทั้งร้อย ของคนมาเที่ยว โพนสะหวัน
ก็เพราะจะมาชม ทุ่งไหหิน (Plain of Jars) อันเลื่องชื่อ นะเอง

ทุ่งไหหิน คือพื้นที่ ที่มี "ไหหินโบราณ" ขนาดตั้งแต่สูงท่วมหัวคนลงมา ตั้งวางอยู่นับร้อย ๆ ลูก
ดูน่าฉงน แกมมหัศจรรย์ คล้าย ๆ สโตน เฮนจ์ ของประเทศอังกฤษ อยู่เหมือนกัน
ว่า เขา(คนโบราณ)เอาไหเหล่านี้ มาตั้งไว้กลางทุ่งโล่งทำไม ตั้งมากมายก่ายกอง
และต้องนำมาจากที่อื่น ซึ่งน่าจะไกลพอสมควร
เพราะบริเวณที่ตั้ง "ทุ่ง" ไม่มีภูเขาหิน หรือ หินก้อนโต ๆ พอจะสกัดเอามาทำไหได้เลย

ตามตำนานปรัมปราของคนลาว เขาว่าไหเหล่านี้คือ "ไหใส่เหล้า" ของท้าวฮุ่งท้าวเจือง
บรรพกษัตริย์ผู้ก่อตั้งประเทศลาว
คนลาวทั่วไปก็ยังเชื่ออย่างนี้อยู่


แต่ทฤษฎีของฝรั่งนักโบราณคดี บอกว่า ไหหินเหล่านี้ สร้างมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สันนิษฐานว่า น่าจะใช้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ เป็นต้นว่า ใส่ศพคนตาย หรือ ใส่กระดูก
หรือไม่ก็ เป็นการบูชาเทพเจ้า หรือ สิ่งที่เคารพยำเกรง


จะว่าไปแล้ว คนลาวเจ้าของทุ่งไหหินแท้ ๆ ดูจะไม่สนใจ ให้ความสำคัญ หรืออนุรักษ์รักษา มรดกทางประวัติศาสตร์ของตนสักเท่าไหร่
คงเพราะเห็นมาแต่อ้อนแต่ออก หลายชั่วอายุคนแล้วก็ได้
ว่ากันว่า จริง ๆ แล้ว "ไหหิน" ไม่ได้มีแต่ขนาดใหญ่โตมโหฬาร
ขนาดเท่าหม้อ เท่าไห จริง ๆ ก็มี
แต่โดนชาวบ้าน ขุด หยิบ หิ้วกลับไปบ้าน เอาไว้ดูเล่น แล้วก็ทิ้งขว้าง สูญหาย ไปซะเยอะ
เหลือแต่ขนาดที่ "ยกไม่ไหว" ทิ้งไว้คาทุ่ง ในปัจจุบัน
น่าเสียดาย เหมือนกัน

ในยุคสงครามเวียดนาม ที่ขบวนการกู้ชาติฝ่ายซ้ายของลาว ต่อสู้กับจักรวรรดิอเมริกาและพันธมิตร (พี่ไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย)
เพื่อปลดปล่อยลาวไปสู่สังคมนิยม โดยมีเวียดนามและรัสเซียหนุนหลัง
กองกำลังกู้ชาติ ได้ซ่องสุมรวมพลใหญ่กันอยู่ที่ทุ่งไหหินนี่เอง
ทุ่งไหหิน จึงเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือด รุนแรงที่สุด ในลาว

ทหารปลดแอก ทหารรัฐบาลลาว รวมทั้ง "ทหารรับจ้าง" จากประเทศไทย
ที่รับเงินจากอเมริกามาสู้กับพี่น้องร่วมถิ่นสุวรรณภูมิ
ได้สังเวยชีวิต เป็นผีเฝ้าทุ่งไหหิน นับพัน นับหมื่นคน
ส่วนทหารอเมริกัน ผู้กระพือไฟสงคราม
ไม่ได้ล้มตายไปกับเขาด้วยหรอก เพราะไม่ได้ส่งทหารราบเข้ามาทางภาคพื้นดินเหมือนในเวียดนาม
เนื่องจากสงครามในลาวของอเมริกา เป็นสงครามที่ไม่ได้ประกาศ ไม่ได้บันทึกไว้ (ดูหนัง Air America แล้วจะเข้าใจ)
อเมริกาใช้วิธี นำเครื่องบิน B 52 มาทิ้งระเบิดปูพรม ไปทั่วทุ่งไหหิน
ซึ่งนอกจากจะทำให้ ทหารปลดแอก ล้มตายเป็นจำนวนมากแล้ว
ยังทำให้ "ไห" จำนวนมาก พังพินาศเสียหาย เพราะแรงระเบิด

ทุ่งไหหิน ในปัจจุบัน จึงกลายเป็น "ทุ่งระเบิด" ที่มีหลุมระเบิดขนาดใหญ่อยู่เต็มไปหมด
รวมทั้ง ลูกระเบิด ที่ยังมีอันตราย ฝังอยู่ใต้ดิน อีกมากมาย
ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังมีการสำรวจ เก็บกู้ระเบิด อยู่ตลอด
โดยหน่วยงาน MAG ซึ่งเป็นเอ็นจีโอสากล ร่วมมือกับรัฐบาลลาว

จากข้อมูลที่ได้มา การเก็บกู้ระเบิดในทุ่งไหหิน ดำเนินการสำเร็จไปแล้วเพียง 25 % เท่านั้น
ส่วนที่ปลอดภัยไร้ระเบิด ก็เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม

ด้วยเหตุนี้ การเข้าชมทุ่งไหหิน รัฐบาลลาวจึงไม่อนุญาตให้เดินทางมาเข้าชมกันเอง
เพราะอาจเดินไปเหยียบระเบิด เอาได้

การเข้าชมทุ่งไหหิน จะทำได้ผ่านทัวร์ที่รัฐบาลลาวอนุญาตเท่านั้น
ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ธุรกิจทัวร์ "ผูกขาด" อันนี้ ค่อนข้างจะมีราคาแพง
อัตราค่าทัวร์ทุ่งไหหิน ราคา 15 ดอลลาร์ต่อคน แต่นี่หมายถึง สามารถจัดกรุ๊ปทัวร์ได้ไม่น้อยกว่า 10 คนนะครับ
ถ้าต้องการเหมาทัวร์ไปเอง ในหมู่คณะเดียวกัน ไม่กี่คน ราคาจะแพงกว่านี้อีก

ทัวร์ทุ่งไหหิน จะมีไกด์ชาวลาวนำเที่ยว ซึ่งไกด์ส่วนใหญ่ก็คือ เอ็นจีโอของ MAG นี่แหละ
โดยจะพาไปชม 3 ที่ หรือ ที่เรียกกันว่า Site 1 - 2 - 3
ไซต์ 1 อยู่ห่างจาก โพนสะหวัน ประมาณ 10 กิโลเมตร ไซต์สุดท้าย จะไกลออกไปราว 40 กม.

ทัวร์ของผม มีผมเป็นคนไทยคนเดียวอีกตามฟอร์ม
โชคดีที่ไกด์ชาวลาว พูดอังกฤษได้ ประมาณภาษาอังกฤษ ไวยากรณ์ลาว ที่ฝรั่งฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง
แต่ผมฟังเข้าใจดี เพราะก็มีวิธีพูดภาษาอังกฤษแบบเดียวกันนะแหละ เอิ๊ก ๆ

ชมภาพ "ไหหิน" กันให้จุใจเลยนะครับ ผมนำภาพรวม ๆ มาจากทั้ง 3 ไซต์ นะแหละ
ซึ่งก็แยกไม่ออกเหมือนกันว่า ภาพไหน เป็นของไซต์ไหน เพราะมันก็มีแต่ "ทุ่ง" และ "ไห" แบบเดียวกันหมด อิ อิ



ก่อนจะพาสู่ทุ่งไหหิน ขบวนทัวร์ของเรา ได้แวะชมอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้านลาว
(ถ้าที่ไทย เรียกว่า โรงต้มเหล้าเถื่อน)
ภาพบน คือบ้านของนักต้มเหล้า ชาวม้ง
ส่วนภาพล่าง คือ โรงเหล้า เตากลั่น ควันโขมง
ที่ผมได้ทดลอง "เหล้าต้ม" ของลาวไปหลายจอก โดยชิมแล้วก็หลอกฝรั่งร่วมทัวร์ว่า
try some, not too strong มีฝรั่งหลงเชื่อ กระดกเข้าไป แล้วก็ร้องจ๊าก ไปหลายคน
กว่าจะออกจากบ้านเหล้าลาว ผมก็มึนไปพอสมควร



มาถึงแล้ว ทุ่งไหหิน





ไกด์ชาวลาว กำลังอธิบายให้ฟิลิปิโน สองคนนี้ ให้เข้าใจว่า
ไหหินบ้านไอ มันมีสองแบบนะยู แบบนึง เป็นหินทรายสกัด
อีกแบบ เป็นการปั้น ด้วยหินผสมกรวดผสมซิเมนต์โบราณ ยูโหวววววว
โอ้....ไอฟังไม่รู้เรื่อง ยูพูดอีหยังหว่า เว้าลาวเข้าใจกว่ามั้ง ตากาล็อกสองนายนั้น คงอยากบอกอย่างนี้





กลับจาก เที่ยวชม ทุ่งไหหิน
โปรแกรมท่องเที่ยว ที่โพนสะหวัน ของผม ก็ไม่มีที่จะไปอีกแล้ว

ความจริง ยังมี เมืองคูน ที่อยู่ไม่ไกล ประมาณไปเช้า กลับเย็น ได้
เขาว่า เป็นเมืองเก่า อะไรนี่แหละ
แต่ผมไม่ได้ไป
เพราะต้องใช้บริการ กรุ๊ปทัวร์ อีกตามเคย
ไม่ชอบ อยากไปเอง แบบอิสระเสรี มากกว่า

ธุรกิจทัวร์ ที่โพนสะหวัน ค่อนข้างเล็ก และรวมตัวกันเหนียวแน่น
แบบไม่แข่งกันขาย แต่ร่วมกัน "ผูกขาด" ให้ช่องทางนักท่องเที่ยวต้องมาใช้บริการนี้ ช่องเดียว
ผมก็เคย เซย์โน ไม่อาววว ดีกว่า

ตามโปรแกรมของผม
ผมเดินทางขึ้นมาทางนี้ เพื่อจะต่อเข้าไปยัง เวียดนาม ตอนเหนือ
ผ่าน ซำเหนือ ไปออกที่ ด่านนาแมว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก ฮานอย นัก


(ดูแผนที่ประกอบ)


ผมจึงยุติการท่องเที่ยวในโพนสะหวัน
ไปที่เอเยนต์ขายตั๋ว เพื่อติดต่อซื้อตั๋วรถไปยัง ซำเหนือ
พร้อมกันนั้น ก็สอบถามเขา เกี่ยวกับเส้นทางและรถโดยสารที่จะออกจากซำเหนือ ไปยังชายแดนเวียดนาม

เอเยนต์ที่โพนสะหวัน บอกว่า
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เส้นทางจากซำเหนือ ไปยังด่านนาแมว
จะมีรถประจำทางวิ่งทุกวันหรือเปล่า (หรือยังมีวิ่งอยู่หรือเปล่า)
เพราะเป็นหน้าฝน เส้นทางอาจเป็นหล่มโคลน หรือ ถูกตัดขาดไปแล้ว
เขาไม่แน่ใจ เลยแนะนำให้ผมไปสอบถามที่หน่วยงานเกี่ยวกับควบคุมเส้นทางเดินรถ
ที่ศาลากลางเมืองแปก ก่อนจะดีกว่า
จะได้ไม่เดินทางเสียเปล่า

เมื่อผมไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ศาลากลาง
ก็ได้รับคำตอบคล้าย ๆ กัน
ว่าเส้นทางจากซำเหนือ ไป ชายแดนเวียดนาม มักจะใช้งานไม่ได้ในหน้าฝน
ไม่แนะนำให้ผมไป
และบอกต่ออีกว่า ด่านนาแมว ที่ผมจะออกไปนี้
ไม่ใช่เส้นทางนักท่องเที่ยว จะไม่มีที่พักหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้เลย
และเจ้าหน้าที่ด่านเขาอาจจะไม่ให้ผ่านเข้าเวียดนามก็ได้
ขู่กันแบบนี้ ผมก็ใจแป้วไปเหมือนกัน

เจ้าหน้าที่บอกอีกว่า
จริง ๆ ถ้าอยากเดินทางท่องเที่ยวเข้าจากลาวเข้าเวียดนามเหนือ
ควรจะไปใช้เส้นทาง จาก หลวงพระบาง ไปออก เดียนเบียนฟู ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปนิยม
จากเดียนเบียนฟู จะขึ้นเหนือไป ซาปา หรือลงใต้ มา ฮานอย ก็สะดวก

แหม...มาบอกอะไรตอนนี้ หลงมาถึงนี่แล้ว ถึงมาบอก ฮ่วย
พวกโพสต์ในอินเทอร์เน็ต ก็หลอกเรา(หรือเปล่า)เหมือนกันนะเนี่ย
บอกตะลุยเข้าเวียดนาม ตามเส้นทางนี้แหละ
เราเลยจะเอาตาม

สรุปแล้ว ก็เลย เป็นอันว่า แห้ว ครับ
ไปเวียดนามไม่ได้ (ไม่กล้าไป)


เวียดนามอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่....
ก็เอื้อมไปไม่ถึง


เซร็งเลยยยยยยย

ผมจึงต้องเปลี่ยนเส้นทาง หาทางกลับบ้าน
โดยจะย้อนกลับไปทาง หลวงพระบาง
เพื่อจับเครื่องบินกลับไทยครับ

ตอนต่อไป ผมจะพาเที่ยวชม หลวงพระบาง พอเป็นกระสัยนะครับ
ถือเป็นของแถมละกัน
เพราะโดยส่วนตัว ก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปเที่ยวที่นั่น
และ บอกตามตรง...ผมไม่ประทับใจ ชื่นชอบ เมืองมรดกโลก ที่คนอื่นเขาชอบกันนักชอบกันหนา แห่งนี้เลย

1/18/2552

ลาวเทิง ตอนที่ 6

เรามาอ่านกันต่อของบทความท่องเที่ยวเมืองลาว ของคุณ คาเมสุมิฉาจารา มาถึงอีกตอนแล้ว

"อัตราค่าพักที่โพนสะหวัน ค่อนข้างถูก มีแต่ตั้งแต่ 2 ดอลลาร์ ไปจนถึงสูงสุด 5 ดอลลาร์
ผมเลือกพักที่ "เฮือนพักพูคำ" ราคาต่อคืน เพียง 3 ดอลลาร์ (30,000 กีบ)
เป็นห้องพัดลม ห้องน้ำในตัว ไม่มีน้ำอุ่น แต่ก็ขออาบน้ำอุ่นที่ห้องอาบน้ำของเจ้าของเกสต์เฮ้าส์ได้ตลอดเวลา
(ผมขออาบน้ำอุ่นทุกครั้งแหละครับ ใครจะไปอาบน้ำเย็นไหว อากาศหนาวเย็น ขนาดนั้น)

เฮือนพักพูคำ อยู่ติดกับวงเวียนใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นย่านดาวน์ทาวน์ แห่งเดียวของเมือง
นักท่องเที่ยว ใครพักที่ไหน ก็เดินวนไปวนมา เจอกันวันละห้ารอบ อยู่แถวนี้ละครับ



วงเวียนใหญ่ใจกลางเมือง ในบรรยากาศฟ้าฉ่ำฝน


มีพานทองรองรับ ตั้งอยู่กลางวงเวียนด้วย แต่รัฐธรรมนูญหายไปไหนล่ะ อิ อิ เหมือนเมืองไทยตอนนี้เลย
ผมสันนิษฐานไปทางทะลึ่งว่า พานทองอันนี้ คงสร้างเลียนแบบอนุสาววรีย์ประชาธิปไตยของไทย
ที่มีพานรองรับรัฐธรรมนูญ แต่พอคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองลาว ก็เลย "โละ" รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทิ้งไป เหลือแต่พานโด่เด่
(ข้อสันนิษฐานนี้ ห้ามนำไปใช้อ้างอิงที่อื่นเด็ดขาด เป็นการสันนิษฐานมั่วปนมัน)


ป้ายต้อนรับกลางวงเวียน

ติดค้างไว้ว่า จะอธิบายถึง "โพนสะหวัน" กับ "เชียงขวาง" ว่ามันก็คืออันเดียวกัน แต่ทำไมถึงเรียกไม่เหมือนกัน
ดูในป้ายรูปข้างบนนะครับ
จะเขียนบอกว่า "ชาวเชียงขวาง (หรือภาษาลาวอ่าน "เซียงขวง") ยินดีต้อนรับทุก ๆ ท่าน"

จริง ๆ แล้ว เชียงขวาง คือ จังหวัด (Province)
แต่ "จังหวัด" ของลาว ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดเหมือนของไทยนะครับ จะมีลักษณะเหมือนเป็น "แขวง" เสียมากกว่า
คือ เชียงขวาง ไม่ได้เป็นชื่อเมือง แต่เป็นชื่อจังหวัด-ชือแขวง
"เมือง" ที่ผมมาเยือนนี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "เมืองแปก" (คงจะตั้งตามชื่อต้นไม้ แปลก ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น)

และ "โพนสะหวัน" ที่ทุกคนรู้จักทั่วไป จริง ๆ แล้วก็เป็นแค่ชื่อ "หมู่บ้าน" ในสังกัดเมืองแปก
เห็นในป้ายที่อยู่ตามร้านค้า จะเขียนว่า
"บ้านโพนสะหวัน เมืองแปลก จังหวัดเชียงขวาง"

เอาละครับ อธิบายที่มาที่ไปของชื่อเมือง ให้ทราบกันพอสังเขป
เดี๋ยวจะพาเข้าที่พักแระ เหนื่อยเต็มที ขอนอนสักงีบ พรุ่งนี้จะพาชมเมือง "แปลก" ซึ่งมีของแปลก ๆ ในสายตาชาวเราหลายอย่างเหมือนกัน

ในบริเวณที่พัก จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วย อาวุธยุทโธปกรณ์ ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม
เก็บไว้เป็นของที่ระลึก (รึเปล่า) เต็มไปหมด
ลืมบอกไปว่า พื้นที่ส่วนนี้ ในอดีตเป็นสมรภูมิการต่อสู้ ระหว่าง อเมริกา (บวกพี่ไทย) กับ ขบวนการกู้ชาติลาว ที่มีรัสเซียและเวียดนาม หนุนหลัง แห่งสำคัญเลยครับ
จึงมีอนุสรณ์แห่งสงครามอยู่เกลื่อนกลาด และเป็นทุกแห่งทุกที่ในโพนสะหวันเลยครับ
ที่เอา อาวุธชนิดต่าง ๆ มาประดับประดา ที่พัก ตกแต่งทุกสิ่งทุกอย่าง
ดูตามรูปแล้วกันนะครับ



ดูให้ดีครับ เสาป้าย ทำด้วยกระสุนปืนใหญ่นะนั่น กระถางปลูกต้นไม้ใบหญ้า ก็เหมือนกัน


อันนี้ วางอยู่หน้าเคาน์เตอร์


แล้วนี่ ตามทางเดินทั่วไป


ระเบียงด้านหน้าก็ไม่เว้น

อย่างที่บอกไปแล้วครับ โพนสะหวัน เป็นเมืองเล็ก ๆ
และดูเหมือน จะเป็นเมือง ที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนา (สู่ความเจริญ)
เพราะตึกอาคาร ร้านค้า ดูใหม่มาก เหมือนว่าเพิ่งจะสร้างขึ้นมาไม่นานนัก
คล้าย ๆ จังหวัดเกิดใหม่ ของไทย อย่าง มุกดาหาร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อะไรประมาณนี้ละครับ
คือ มีทั้งความเป็น "บ้านนอก" และความเป็น "เมือง" ปนอยู่ในตัว

ผมค่อนข้างมีเวลาว่างกับเมืองนี้เยอะ
เพราะไม่มีที่ท่องเที่ยว ที่ไหน
นอกจาก เดินไปเดินมา อยู่ในบริเวณตัวเมือง
และก็เก็บภาพ หลาย ๆ ภาพมาฝาก
คือ ภาพเหล่านี้ ก็คงปกติของบ้านเขา
แต่ความคิดของชาวเรา มันก็ดูแปลก ๆ ถึงขั้นทำให้ขำก๊าก ไปเลยก็มี

เชิญชม ภาพรวมมิตร ที่ผมเก็บมาฝากจากเมืองโพนสะหวัน ครับ




ดูรูปทรงอาคาร และความใหญ่โตโอฬาร ผมคิดว่าต้องเป็นศาลาว่าการเมือง แน่ ๆ



แต่พอเดินเข้าไปดู อะจ๊าก ไม่ใช่ศาลากลาง
ปรากฏว่า เป็นห้างสรรพสินค้าประจำเมืองครับ
สินค้าที่วางขาย มีเฉพาะเกี่ยวกับ เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว เครื่องประดับ
ดูคุณภาพแล้ว ระดับตลาดนัดบ้านเรานี่เอง
ส่วนพวกเสื้อชาวเขา เสื้อม้ง เสื้อแม้ว ที่เหมือนจะเน้นขายนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
ราคาแพงจับจิต ไม่กล้าซื้อเลยครับ


อันนี้ต่างหาก ศาลากลางเมืองแปก
มีธงชาติลาวประดับคู่ธงค้อนกับเคียว ให้เห็นเป็นสำคัญ


สินค้าอันพึงมีไว้ทุกครัวเรือน "จานดาวเทียม"
วางขายกันริมถนน อย่างนี้แหละ


ระหว่างทาง เจอเขากำลังจัดงานแต่งงาน
เลยเดินเข้าไปขอชักรูป ตามประสานักถ่ายรูปมือซน
อ้าย-เอื้อยลาว กลับเชื้อเชิญแกมฉุดกระชากลากถูผมเข้าไปในงานเสียเนี่ย
ยก เบียร์ลาว หรือ "เขยลาว" มาเสริฟผมเฉย คะยั้นคะยอให้ร่วมดื่มกิน เป็นเกียรติแก่คู่บ่าวสาว
ตามนิสัยคนลาวที่อัธยาศัยดี และ "มักม่วน"
งานนี้ผมไม่ต้องเสียสินสอดทองหมั้น ก็ได้เป็น "เขยลาว" กับเค้าเหมียนกัน เอิ๊ก เอิ๊ก
แต่เป็น "เขยลาว" พอหอมปากหอมคอ แค่สองขวด ก็กล่าวล่ำลา ซำบายดี ขอบใจหลาย
กลัวจะติดลม กลับที่พักไม่ถูกเอานะครับ




อย่างที่ผมสงสัย หรือว่าเมืองลาว การพนันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย
อันนี้คือ ร้านตู้ม้า ในเมืองโพนสะหวัน เปิดอย่างสง่าผ่าเผย
ผมไม่แน่ใจว่ามีพวกสล็อทแมชีน หรือ เกมพนันแทงไพ่ อยู่ในนั้นด้วยหรือเปล่า
ไม่กล้าเข้าไป กลัวติดใจ อิ อิ


อันนี้ตั้งใจถ่าย "ข้างหลังภาพ" ของร้านขายซีดีเพลง มาให้ดู
ว่าไอ้สีแดง ๆ ทอง ๆ ของแผ่นซีดีที่เห็นนั้น
คือ แผ่นไรท์ยี่ห้อ PRINCO เราดี ๆ นี่เอง
ซีดีเพลงของที่นี่ ขายแต่ของปลอดลิขสิทธิ์ ไรท์ได้ไรท์เอา เป็นหลักครับ





เจอรถขายขนมปังริมทาง หน้าตาน่ากิน น่าอร่อย
ถามอาแป๊ะ คนขาย ว่าอันนั้นอันนี้ ขนมอะไร รสชาติเป็นไง
อาแป๊ะ แกเหมือนจะฟังภาษาลาว(อีสาน)ของผมไม่รู้เรื่อง
ถามอะไร ก็ตอบมาแต่ สามพันกีบ...สี่พันกีบ...อยู่นั่นแหละ
พอผมถ่ายภาพขนมปังเสร็จ จะขอให้แกโพสต์ท่าทำหน้าหล่อถ่ายคู่กับรถถีบ
ปรากฏว่าแกถีบรถหนีไปเลย ขนมเลยไม่ได้ซื้อไม่ได้กิน
ผมเลยหันไปถามแม่หญิงคนที่ซื้ออยู่ก่อน ว่าอาแป๊ะแกกลัวผมเรื่องไร
แม่หญิงคนนั้นบอกว่า อาแป๊ะคนนี้แกเป็นคนต่างด้าว เป็นพวกจีนฮ่อ จีนอะไรสักอย่างนี่แหละ
เข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย แกคงกลัวว่าผมเป็นตำรวจลับจะมาถ่ายรูป จับแกส่งกลับประเทศละมัง
เออ...แปลกดี ประเทศคอมมิวนิสต์ (แถมยากจน) อย่างลาว ก็มีคนต่างด้าว ลับลอบเข้าเมืองมาทำมาหากินด้วย



ป้ายนี้ ถ้าไม่มีคำว่า CLINIC มาเป็นไกด์ คงเข้าใจความหมายได้ยากอยู่
แม้จะพอแปลคำเป็นภาษาไทยได้ว่า "ห้องกวด(ตรวจ)พะยาด(พยาธิ)ทั่วไป"
ซึ่งเรา ๆ ท่าน ๆ อาจเข้าใจไปว่า เป็นร้านรับถ่ายพยาธิตัวตืด ตัวกลม ละกระมัง
จริง ๆ แล้วก็เป็นคลีนิกรับรักษาคนป่วยทั่วไปนี่แหละครับ
ซึ่ง ผมว่า ภาษาลาวคำนี้ สละสลวยและถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ กว่าของไทยเราด้วย
"พยาธิ" ในความหมายจริง ๆ ก็คือ โรคาพยาธิ หรือ "โรค" นะเอง
ส่วนของไทยเรา ไอ้ร้านหมอ พวกนี้ ใช้ภาษาวิบัติที่ผมรังเกียจและต่อต้านมาตลอด
คือมักจะเขียนว่า "รับรักษาโรคทั่วไป"
เออ...โรคจะไปรักษามันทำเอี้ยอะไรครับ ต้องรักษาคนสิ ไม่ใช่รักษาโรค
เวรกรรมทางภาษา ใช้ผิดจนกลายเป็นถูก ไปหมดทั้งเมืองแล้ว



ให้ลองทายสิว่า เพิงหมาแหงน ที่ผมถ่ายรูปมานี้ เป็นร้านขายอะไร หรือทำอะไร
หุ หุ เป็นร้านรับใส่ฟันปลอมครับ
อ้าว อย่าหาว่าผมมั่ว หรือหลอกตลกเล่นนะครับ
ดูรูปถัดไปสิ
อุปกรณ์ทางทันตแพทย์ ครบครัน เอิ๊ก ๆ
มา มา เร่เข้ามา ผู้ต้องการจะมีฟันใหม่ที่สวยงาม ทนทาน

ปล. ได้ข่าวว่า ลุงถึกจะไปหาหมอฟันไม่ใช่เหรอครับ ไม่ลองใช้บริการร้านนี้ดูล่ะ เอิ๊ก ๆ

ตอนต่อไป น่าจะเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องตะลุยเมืองลาว ชุดนี้ ก็ว่าได้ครับ
เพราะผมจะพาท่านมุ่งไปสู่ "สมรภูมิทุ่งไหหิน"
ดินแดนแห่งลูกระเบิด และ ไหหินโบราณ มากมาย เหลือจะคณานับ


โปรดรอชมด้วยใจระทึกพลัน

ต่อตอนหน้าแล้วกัน